การตรวจสุขภาพช่วยดูแลสภาวะความสมบูรณ์ของร่างกาย COVID-19 เป็นโรคใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น โดยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Coronavirus โดยเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดไข้หวัด หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นเกิดโรคเกี่ยวกับทางระบบทางเดินหายใจ
โดยทั่วไปอาการของ COVID-19 ที่สังเกตได้อย่างเด่นชัด คือ ไข้ เจ็บคอ ไอ และอาจมีอาการหายใจลำบาก ซึ่งเป็นอาการที่แตกต่างจากไข้หวัดทั่วไป
สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตจาก COVID-19
ส่วนใหญ่แล้วความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละรายจะมีการแสดงอาการที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่คิดเป็น 80% จะแสดงอาการค่อนข้างน้อย มีอาการเหมือนไข้หวัดทั่วไป ซึ่งสามารถหายเองได้ 20% จะมีอาการรุนแรง เกิดการติดเชื้อที่ปอด และเกิดอาการปอดอักเสบ สำหรับผู้ที่เสียชีวิตจากสถิติข้อมูลในปัจจุบัน พบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีภูมิคุ้มกันร่างกายที่อ่อนแอ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยที่อายุน้อยและไม่มีโรคประจำตัว
COVID-19 แพร่เชื้อได้อย่างไร?
COVID-19 สามารถแพร่เชื้อผ่านทางสารคัดหลั่ง โดยเฉพาะทางปาก จมูก เกิดจากเสมหะ หรือเกิดจากการไอ จาม ออกไป ทำให้สารคัดหลั่งแพร่กระจาย และไปสัมผัสส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ทั้งในอากาศ หรือติดที่พื้นผิวต่างๆ ซึ่งในพื้นผิวแต่ละที่เชื้อไวรัสจะมีอายุและระยะเวลานานแตกต่างกัน อาทิเช่น พื้นที่บริเวณที่มีอากาศร้อน แห้ง เชื้ออาจจะตายภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที ขณะเดียวกัน ในพื้นที่บริเวณที่มีอากาศหนาวเย็น มีความชื้น เชื้ออาจมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 4 – 5 วัน ดังนั้น สิ่งต่างๆ ที่ถูกสารคัดหลั่งเหล่านี้ไปสัมผัส เราต้องพยายามหลีกเลี่ยงการไปสัมผัสเพื่อไม่ให้เชื้อโรคอยู่ที่มือของเรา และลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ
หากมีอาการ เช่น มีไข้ขึ้น เจ็บคอ ไอแห้ง หายใจลำบาก มีอาการเหนื่อยหอบ ควรจะต้องไปพบแพทย์ อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการซักประวัติร่วมด้วย ว่ามีการเดินทางกลับมาจากประเทศเสี่ยงหรือไม่ หรือสัมผัสใกล้ชิดกับคนที่กลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ หรือได้มีการสัมผัสกับบุคคลที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนที่มีการแออัด
COVID-19 รักษาให้หายเป็นปกติได้ไหม?
สำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง มีอาการไม่มาก โดยทั่วไปสามารถรักษาหาย กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แต่ในสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เชื้อไวรัสจะทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการรักษานานขึ้นกว่าปกติ สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานร่างกายต่ำ หรือมีอายุมาก จะใช้ระยะเวลาในการรักษานานกว่าปกติอีกเท่าตัว จึงจะหายกลับมาเป็นปกติได้
เจลล้างมือ VS สบู่ แตกต่างกันอย่างไร?
อย่างที่เราทราบกันว่าการล้างมือ เป็นหนึ่งวิธีการป้องกันเชื้อ COVID-19 โดยหากเราได้มีการสัมผัสสารคัดหลั่งที่เห็นชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม ให้ทำการล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ และควรล้างทุกส่วนของมือทั้งหมด โดยใช้เวลาอย่างน้อย 40 – 60 วินาทีในการล้างมือ หากคิดว่าเรามีโอกาสสัมผัสแต่อาจมองไม่เห็นสารคัดหลั่งต่างๆ ให้ทำการล้างด้วยเจลล้างมือที่มีแอลกอฮอล์ 70% ซึ่งโดยทั่วไปใช้เวลา 20 – 40 วินาที ทั้งสองสิ่งสามารถทำการฆ่าเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี ขึ้นอยู่กับว่ามือของเราได้สัมผัสสารคัดหลั่งหรือไม่ หากสัมผัสสารคัดหลั่งอย่างชัดเจน ควรทำการล้างด้วยน้ำกับสบู่
ข้อปฏิบัติเมื่อต้องกักตัว 14 วัน
ผู้ที่ต้องทำการกักตัว 14 วัน คือ ผู้ที่มีความสงสัยจะมีโอกาสป่วยเป็นโรค COVID-19 ดังนั้น ถ้าสงสัยว่าป่วย มีการแสดงอาการ การกักตัว ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยจะต้องมีจิตสำนึกในการกักตัวอย่างเคร่งครัด แยกตัวเองออกจากผู้อื่น ไม่ไปสัมผัสกับผู้อื่น ห้องที่ทำการกักตัว ควรมีอากาศถ่ายเทที่ดี ไม่อับชื้น อุณหภูมิไม่เย็นมากจนเกินไป สำหรับเรื่องการรับประทานอาหาร ควรจะมีการแยกจานแยกช้อน ใช้ช้อนของตนเอง ไม่ใช้ช้อนหรือภาชนะร่วมกันกับผู้อื่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายต้องทำการแยกซัก อาจซักด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และหากมีอาการไอ จาม ให้ใช้
ทิชชูและทิ้งในถังขยะที่ปิดสนิทเพราะถือเป็นขยะติดเชื้อ หากไม่มีความจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ควรอยู่แต่ในบ้าน แต่หากจำเป็นต้องออกจากบ้าน ให้ใส่หน้ากากอนามัย และซื้อของใช้ที่เท่าที่จำเป็น อย่าอยู่ข้างนอกนานจนเกินไป เพราะหากเราเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อแล้ว จะยิ่งทำให้มีโอกาสในการติดเชื้อกับผู้อื่นเพิ่มมากยิ่งขึ้น
การป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดจาก COVID-19
การป้องกันที่ดีที่สุด คือ เริ่มต้นจากการป้องกันตัวเองก่อน ซึ่งจะทำให้ทุกคนไม่มีความเสี่ยง ให้รับประทานอาหารที่ร้อน สุกใหม่ๆ รับประทานช้อนของตัวเอง พยายามล้างมือบ่อยๆ ถ้าเกิดจำเป็นต้องเดินทางเข้าไปในสถานที่ชุมชน ควรใส่หน้ากากอนามัย
สิ่งที่คุณหมออยากฝากถึงทุกคนในช่วงวิกฤติ COVID-19
อยากให้ทุกคนมีจิตสำนึกในการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม ควรช่วยเหลือกัน และมีการป้องกันอย่างเคร่งครัด ถ้ารู้ว่าตนเองอาจจะไปแพร่เชื้อ ควรต้องทำการกักตัวให้ครบ 14 วันเป็นอย่างต่ำ ไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น และขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้ผู้อื่นแพร่เชื้อมายังเราด้วย และสำหรับใครที่ต้องเดินทางกลับบ้าน ในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัส และเว้นระยะห่างทางสังคม หรือSocial Distancing โดยการเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร ให้ทักทายกันระยะไกล ซึ่งถือเป็นการช่วยกันรับผิดชอบต่อสังคม และจะทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้