ตรวจอาการเบื้องต้น ทำความรู้จักกับมะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งต่อมไทรอยด์เกิดจากการที่เซลล์ต่อมไทรอยด์มีการแบ่งตัวผิดปกติจนกลายเป็นเนื้อร้าย พบได้บ่อยในคนช่วงอายุ 20-65 ปี เป็นโรคมะเร็งที่ตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างดี สามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบได้เร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
ใครที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ?
พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ คือ
– เพศหญิงพบได้สูงกว่าเพศชาย
– เคยได้รับการฉายแสงหรือเคยได้รับรังสีที่คอมาก่อน
– มีประวัติเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ในครอบครัว
อาการของ มะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นอย่างไร ?
– คอโต มีก้อนโตขึ้นอย่างรวดเร็วบริเวณต่อมไทรอยด์ ก้อนมักติดแน่นกับเนื้อเยื่อข้างเคียง
– เสียงแหบ
– หายใจลำบาก
– กลืนอาหารลำบาก กลืนเจ็บ สำลักอาหาร
– ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
– หากมะเร็งแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น อาจทำให้มีอาการตามอวัยวะที่แพร่กระจายไป เช่น มะเร็งกระจายไปกระดูกทำให้มีอาการปวดกระดูก กระดูกหักง่าย
การวินิจฉัย มะเร็งต่อมไทรอยด์ ทำอย่างไร ?
เมื่อสงสัยก้อนโตบริเวณต่อมไทรอยด์ แพทย์จะทำการเจาะเลือดตรวจระดับไทรอยด์ฮอร์โมน และทำการตรวจอัลตร้าซาวด์ต่อมไทรอยด์เพื่อให้เห็นลักษณะของก้อนอย่างละเอียด ถ้าพบลักษณะของก้อนที่สงสัยว่าอาจมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ แพทย์จะแนะนำให้เจาะบริเวณก้อน (Fine needle aspiration) เพื่อเอาเซลล์ไปส่งตรวจว่าเป็นก้อนเนื้องอกธรรมดาหรือมะเร็งต่อมไทรอยด์
วิธีรักษา มะเร็งต่อมไทรอยด์
– การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ เป็นการรักษาอันดับแรกที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน โดยผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์และผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองที่คอส่วนที่มีมะเร็งแพร่กระจายไปออก
– การกลืนแร่รังสีไอโอดีน (Radioiodine Therapy) ในกรณีที่เป็นเซลล์มะเร็งชนิดที่จับกินแร่รังสีไอโอดีน การกลืนแร่รังสีไอโอดีนจะเข้าไปช่วยทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่หลังการผ่าตัด และช่วยทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค
– การให้รังสีรักษาและยาเคมีบำบัด ใช้เฉพาะในผู้ป่วยบางรายที่เป็นเซลล์มะเร็งชนิดที่ไม่จับกินแร่รังสีไอโอดีน ผู้ป่วยที่มีการกลับเป็นซ้ำของโรค หรือผู้ป่วยที่มะเร็งลุกลามไปอวัยวะอื่นๆแล้วเท่านั้น